เตกีล่า เปิดประวัติสุราประจำชาติเม็กซิโก
เตกีล่าเป็นเหล้าประจำชาติของเม็กซิโกที่ได้รับความนิยมดื่มกันทั่วโลก วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับเตกีล่ากันให้มากยิ่งขึ้น ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มทำความรู้จักเตกีล่าไปพร้อม ๆ กันเลย
/cdn.vox-cdn.com/uploads/chorus_asset/file/22815595/EA_012___Tequila___Group10111.jpg)
รู้จักเตกีล่า
ค็อกเทลแก้วโปรดลำดับต้น ๆ ที่ใครหลายคนต่างนึกถึงนั้นต้องมีชื่อของ ‘มาร์การิตา’ (Margarita) ซึ่งใช้เหล้าเตกีลาเป็นเบสอยู่ด้วยแน่ ๆ และรู้หรือไม่ว่ามีเซเลบริตี้หลายคนที่หลงใหลรสเหล้ากลั่นจากต้น ‘อะกาเว’ (Agave) มากเสียจนลุกขึ้นมาผลิตแบรนด์เตกีลาของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ คลูนีย์ นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าของแบรนด์ ‘Casamigos’ ก่อนจะขายกิจการให้กับ Diageo ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา สุราท้องถิ่นจากประเทศเม็กซิโกชนิดนี้ได้รับความนิยมจากชาวโลกขึ้นเรื่อย ๆ รายงานวิจัยการตลาดจากหลายสำนักต่างระบุตรงกันถึงมูลค่าทางการตลาด ของเหล้าเตกีล่าในตลาดโลกว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี
‘เตกีล่า’ กับ ‘เมซคาล’ ต่างกันอย่างไร
เตกีล่าตั้งชื่อตามเมืองเล็ก ๆ ในรัฐฮาลิสโก ที่บอกว่าเป็นชื่อสมัยใหม่ก็เพราะแต่เดิมนั้นมีเหล้าเมซคาล ซึ่งผลิตจากอะกาเวพันธุ์ต่าง ๆ หลากหลาย แต่ภายหลังมีข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดที่ทำให้เตกีลาแตกแขนงออกมา คือเตกีล่าต้องผลิตมาจากอะกาเวสายพันธุ์สีฟ้า (Blue Agave หรือ Agave Azul มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Agave Tequilana Weber) เท่านั้น ทั้งยังต้องอยู่ในพื้นที่กำหนดเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ เตกีล่าคือเมซคาลอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่เมซคาลคือเตกีล่า และตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 ด้วยข้อกำหนดที่ชัดเจนของเตกีล่า ก็ทำให้มันแตกแขนงออกมาเป็นเหล้าอีกชนิด ซึ่งโด่งดังและเป็นที่รู้จักนอกเม็กซิโก

กฎเหล็กสำหรับเตกีล่า
เตกีล่ามีหลักเกณฑ์ในการผลิตชัดเจน ซึ่งแบ่งแยกมันออกจากเมซคาล ทั้งข้อกำหนดดังกล่าวยังแยกย่อยแบ่งเกรดและสไตล์ให้กับสุรากลั่นชนิดนี้ ข้อกำหนดในการควบคุมการผลิตเตกีลาเรียกว่า ‘NOM’ (Norma Oficial Mexicana) ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเม็กซิโก ได้รับการควบคุมอย่างเคร่งครัดจากหน่วยงาน CRT (Consejo Regulador de Tequila) หรือสภาระเบียบเตกีลาที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมคุณภาพ มาตรฐานการผลิตเหล้าเตกีล่าอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่การปลูกอะกาเวไปจนถึงการบรรจุลงขวด
ประเภทของเตกีล่า
เราสามารถแบ่งเตกีลาออกได้หลัก ๆ เป็น 2 ประเภท คือ 1. ‘Mixto’ ซึ่งหมายถึงเตกีลาที่ผลิตจากบลูอะกาเว 100% มีแนวโน้มที่จะรสดี และทำให้เกิดอาการแฮงน้อยกว่า กับ 2. ‘Mixtos’ ซึ่งใช้แหล่งน้ำตาลอย่างอื่นนอกเหนือจากอะกาเวมาผสมร่วมด้วย หากต้องไม่มากไปกว่า 49% ซึ่งแหล่งน้ำตาลที่นำมาผสมก็มักจะเป็นแหล่งน้ำตามที่จากน้ำตาลอ้อย น้ำตาลบีต คอร์นไซรัป ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะทำมาจากอะกาเวเพียว ๆ หรือผสมน้ำตาลจากวัตถุดิบอื่น เตกีลาล้วนแบ่งได้ 5 เกรดหรือสไตล์ดังต่อไปนี้
1. เตกีล่าสีเงิน หรือเตกีลาขาว (Blanco/Plata/White/Silver)
จะได้รับการบรรจุขวดหลังจากกลั่นไม่นานนัก โดยไม่ได้รับการบ่ม หรือถ้าได้รับการบ่มก็ต้องไม่มากไปกว่า 2 เดือน เตกีลาสีเงินมีกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของอะกาเว กับกลิ่นสมุนไพรที่ชัดเจน ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปดื่มผสมค็อกเทล
2. เตกีล่าสีทอง (Joven/Abocado/Oro/Gold)
เตกีลาส่วนใหญ่ในเกรดนี้มักจะเป็นเตกีลาจากอะกาเวบริสุทธิ์ ซึ่งสีทองของมันอาจได้มาจากคาราเมล หรือการผสมเตกีลาสีเงินกับเตกีลาชนิดอื่น
3. เตกีล่าเรโปซาโด (Reposado/Rested)
หมายถึงเตกีลาที่บ่มในภาชนะไม้โอ๊ก โดยจะเป็นถังไม้หรือแทงก์ก็ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 2เดือน แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มบุคลิกให้ซับซ้อนขึ้น เสริมกลิ่นวานิลลา และคาราเมลให้มากไปกว่าเตกีลาสีเงิน
4. เตกีล่าอันเยโฮ (Añejo/Aged)
เตกีลาอันเยโฮจะต้องได้รับการบ่มในถังไม้โอ๊กขนาดไม่ใหญ่กว่า 600 ลิตร เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 ปี โดยทั่ว ๆ ไปถังไม้ที่ใช้เป็นถังเก่าที่เคยบ่มวิสกี้มาก่อน ซึ่งจะช่วยมอบบุคลิกให้ซับซ้อนและมอบกลิ่นโอ๊กให้หอมนาน คนที่ชอบดื่มวิสกี้จึงมักจะชอบเตกีลาชนิดนี้ แต่ละแบรนด์ผู้ผลิตอาจจะเลือกใช้ถังไม้โอ๊กที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถังไม้โอ๊กจากอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา หรือฮังการี ซึ่งเป็นเทคนิคเพื่อทำให้มีคาแรกเตอร์ของกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างกัน
5. เตกีล่าเอ็กซ์ตร้าอันเยโฮ (Extra Añejo/Ultra Añejo)
เตกีลาเอ็กซ์ตร้าอันเยโฮเป็นเตกีล่าที่ได้รับการบ่มยาวนานเป็นพิเศษ มีกำหนดระยะเวลาบ่มในถังไม้โอ๊กอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป กลิ่นของโอ๊กจะยิ่งช่วยเสริมกลิ่นของอะกาเวให้ยิ่งชวนหลงใหล และภายหลังจาก 3 ปีผ่านไป ปริมาณของเหล้าที่ระเหยหายไป หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ ‘Angels’ Share’ ก็จะยิ่งทำให้เตกีลามีกลิ่นรสหอมนุ่มนวลซับซ้อน และแน่นอนว่ายิ่งมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย
ขั้นตอนการผลิตเตกีลา
ย่อยให้เกิดน้ำตาล (Hydrolysis)
บลูอะกาเวนั้นเต็มไปด้วยอินูลินที่สามารถนำไปย่อยสกัดเป็นนำ้ตาลเพื่อนำไปหมักเป็นแอลกอฮอล์ได้ กระบวนการนี้ทำได้ด้วยการนำหัวอะกาเวอบในเตาอิฐ หรือหม้อนึ่งสเตนเลสสตีล บ้างก็ทำตามกระบวนการดั้งเดิมในสมัยก่อน คืออบให้ระอุอยู่ในหลุมดิน ซึ่งเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ทำให้เมซคาลหรือเตกีลาที่ผลิตด้วยวิธีนี้กรุ่นกลิ่นสโมกหรือออกแนวเอิร์ธตี้
สกัด (Extraction)
ต่อมาคือขั้นตอนในการสกัดคั้นน้ำตาลออกมาจากกากใย โดยเครื่องบดหรือโม่หิน เพื่อให้ได้น้ำหวานที่สกัดออกมาจากหัวอะกาเวที่เรียกว่า ‘อะกัวมีล’ (Aguamiel) ซึ่งแปลว่า น้ำหวานน้ำผึ้ง (Honey Water)
หมัก (Fermentation)
น้ำหวานน้ำผึ้งจะถูกทำให้เจือจางแล้วนำไปใส่ในถังหรือแทงก์ขนาดใหญ่ ที่ยีสต์จะทำการหมักให้น้ำตาลกลายเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งจะได้ออกมาเป็นของเหลวแอลกอฮอล์ต่ำ ว่ากันว่าเคล็ดลับในขั้นตอนนี้คือการทำให้ ‘ยีสต์มีความสุข’ เตกีลาบางแบรนด์นั้นถึงขั้นเปิดเพลงคลาสสิกให้ยีสต์ฟังด้วย (เอากับเขาสิ!)
กลั่น (Distillation)
การกลั่นรอบแรกเพื่อแยกน้ำและส่วนไม่พึงประสงค์ออก โดยในครั้งแรกจะได้แอลกอฮอล์ที่ไม่แรงนักคือประมาณ 20-25% จำเป็นต้องกลั่นครั้งที่สองเพื่อให้ดีกรีแรงขึ้น เตกีลา Blanco ซึ่งไม่ถูกนำไปบ่มต่อจะถูกนำไปบรรจุขวดถัดจากนี้
บ่ม (Aging)
เตกีลาส่วนใหญ่มักบ่มในถังอเมริกันวิสกี้ซึ่งมักจะถูกใช้เพียงแค่ 1 ครั้ง แต่กฎการผลิตเตกีลายังยืดหยุ่นให้ใช้ไม้โอ๊กชนิดใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโอ๊กจากฝรั่งเศส แคนาดา หรือฮังการี การบ่มในถังไม้โอ๊กช่วยให้ทั้งสี กลิ่น และรสชาติ ระยะเวลาในการบ่มเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รสชาตินุ่มลื่นขึ้น
ได้รู้จักเตกีล่ากันมากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ เรียกได้ว่าเตกีล่าก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ครั้งหน้าเราจะพาไปทำความรู้จักกับเครื่องดื่มชนิดใด ห้ามพลาดเด็ดขาดนะครับ