สำหรับคอเบียร์คงรู้กันดีว่าเวลาไปดื่มเบียร์จะต้องเลือกชนิดของเบียร์ที่จะดื่มเสียก่อนว่าจะดื่ม Ale หรือ lager เพราะเบียร์ทั้งสองชนิดนี้มีรสชาติไม่เหมือนกัน แต่สำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาในวงการเบียร์อาจจะยังไม่รู้จักเบียร์ทั้ง 2 ชนิดนี้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และวันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับเบียร์ทั้ง 2 ชนิดนี้กันค่ะ
ความแตกต่างของ Ale & Lager
Ale & Lager เป็นเบียร์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกัน แต่เบียร์ทั้ง 2 ชนิดนี้ก็มีความต่างกันอยู่หลายประการ ซึ่งความต่างของ Ale & Lager มีดังนี้
1.ชนิดของยีสต์
ยีสต์ที่ใช้ในการหมักเบียร์ Ale เป็นยีสต์ประเภทหมักลอยผิว (top-fermenting yeast) ทำให้ปฏิกิริยาการหมักเบียร์จะเกิดขึ้นที่บริเวณผิวหน้าของน้ำเบียร์หรือบริเวณด้านบนของถังหมักเบียร์ก่อนและไล่ลงไปที่บริเวณด้านล่างของถังหมักเบียร์
ยีสต์ที่ใช้ในการหมักเบียร์ Lager เป็นยีสต์ประเภทหมักนอนก้น (bottom-fermentation yeast) ทำให้ปฏิกิริยาการหมักเบียร์จะเกิดขึ้นที่บริเวณก้นของน้ำเบียร์หรือบริเวณด้านล่างของถังหมักเบียร์ก่อนและไล่ขึ้นมาที่บริเวณด้านบนของถังหมักเบียร์
2.อุณหภูมิในการหมัก
อุณหภูมิในการหมัก Ale จะใช้อุณหภูมิสำหรับหมักอยู่ที่ในช่วง 15-24 องศา เซลเซียส
อุณหภูมิในการหมัก Lager จะใช้อุณหภูมิสำหรับหมักไม่เกิน 5-15 องศา เซลเซียส เมื่อทำการหมักเสร็จแล้วจะต้องเก็บเบียร์ที่หมักได้ในอุณหภูมิ 0-32 องศาเซลเซียส เพื่อคงคุณภาพของเบียร์
3.ระยะเวลาในการหมัก
การหมัก Ale ใช้ระยะเวลาในการหมัก 7-8 วันก็สามารถนำมาดื่มได้แล้ว
การหมัก Lager จะใช้เวลาในการหมักประมาณ 28 วัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงการหมักด้วยอุณหภูมิ 5-15 องศาเซลเซียสและช่วงการเก็บก่อนนำออกมาดื่ม ซึ่งเบียร์ Lager รวมแล้วใช้เวลาการหมักนานกว่าเบียร์ Ale
4.ลักษณะของเบียร์
เบียร์ Ale มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ รสชาติเข้มข้นบาดคอ ปริมาณแอลกอฮอล์สูงประมาณ 5 – 6.5 ดีกรี
เบียร์ Lager มีสีเหลืองอ่อนถึงสีอำพันเข้ม รสชาติอ่อนออกหวานมีรสขมเล็กน้อย เวลาดื่มให้ความรู้สึกสดชื่น ปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 3 – 5 ดีกรี
วัตถุดิบในการผลิต Ale & Lager
ส่วนประกอบที่นำมาใช้ในการผลิตเบียร์ Ale & Lager จะมีส่วนประกอบที่เหมือนกัน ดังนี้
1.Barley (ข้าวบาร์เลย์)
ข้าวบาร์เลย์ที่นำมาใช้ในการผลิตเบียร์เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับหมักเบียร์ ข้าวบาร์เลย์ไม่สามารถนำไปหมักเบียร์ได้โดยตรงแต่จะต้องนำไปทำเป็นมอลต์ก่อนจึงจะสามารถนำไปหมักเบียร์ได้ การเปลี่ยนข้าวบาร์เลย์เป็นข้าวมอลต์ก็เพื่อเปลี่ยนแป้งที่อยู่ในข้าวให้เป็นน้ำตาลที่ยีสต์สามารถย่อยสลายกลายเป็นแอลกอฮอล์ได้ โดยนำข้าวบาร์เลย์ไปผ่านกระบวนการ “ Malting ” ที่มีขั้นตอนดังนี้
- นำข้าวแช่ในน้ำที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส การแช่น้ำจะทำให้เมล็ดข้าวบาร์เลย์มีรากอ่อนและใบอ่อนงอกออกมา
- นำข้าวบาร์เลย์ที่มีรากงอกออกมาแล้วไปผึ่งให้แห้งด้วยการใช้ลมที่อุณหภูมิประมาณ 18 องศาเซลเซียสเป่าจนแห้ง
- ปล่อยให้รากของข้าวบาร์เลย์งอกยาวประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวในเมล็ด
- นำข้าวบาร์เลย์ไปอบที่อุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียสจนข้าวเมล็ดข้าวแห้ง ซึ่งเมล็ดข้าวที่แห้งแล้วจะเรียกว่า “ข้าวมอลต์” ที่ใช้ในการผลิตเบียร์
2. Yeast (ยีสต์)
สำหรับช่วยในการย่อยน้ำตาลในข้าวมอลต์ให้เป็นแอลกอฮอล์
3. Hops (ฮอปส์)
คือ ตัวที่สร้างความขมและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับเบียร์ นอกจากนี้ Hops ยังเป็นตัวช่วยยืดอายุของเบียร์ให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น
4.Water (น้ำ)
เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เบียร์มีลักษณะเป็นน้ำใส่หรือข้น ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำที่ใส่ลงไปในขั้นตอนการหมักเบียร์
การผลิตเบียร์ต่างชนิดกันถึงแม้จะมีองค์ประกอบของวัตถุดิบที่เหมือนกัน แต่ชนิดและอัตราส่วนที่ใช้จะต่างกัน จึงทำให้ได้เบียร์ที่มีสี รสชาติ กลิ่นและปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่างกันนั่นเอง
จะเห็นว่าเบียร์ Ale & Lager ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกันและใช้วัตถุดิบหลักเหมือนกัน แต่เมื่อผ่านกระบวนการผลิตที่ต่างกัน ทำให้ได้เบียร์มีลักษณะที่ต่างกัน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว ดังนั้นหากคุณชอบเบียร์ที่หนัก ให้ความรู้สึกเข้มข้นและมีดีกรีแอลกอฮอล์สูง ๆ ต้องดื่ม Ale แต่ถ้าชอบเบียร์รสนุ่ม กลิ่นหอม สีและรสชาติให้ความรู้สึกสดชื่น ดีกรีแอลกอฮอล์น้อย ๆ ต้องดื่มเบียร์ Lager ซึ่งเบียร์ทั้งสองแบบล้วนเป็นเบียร์ต้นตำหรับที่คุณห้ามพลาด